หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การรักษาผู้ติดโคเคน พิมพ์
Monday, 15 January 2007

เนื่องจากโคเคนเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา การรักษาผู้ป่วยติดโคเคนจึงได้รับการพัฒนาจนเป็นรูปแบบมาตรฐานของการรักษาทั้งการรักษาทางยา และพฤติกรรม ซึ่งในระยะต่อมาการรักษาผู้ติดยาบ้าก็ใช้วิธีคล้ายคลึงกันในการบำบัด

1. การรักษาด้วยยา
            องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่รับรองว่ามียาใดรักษาโคเคนให้ได้ผล แต่มียา 2 กลุ่มที่กำลังศึกษาถึงผลการรักษาอยู่
            1. Dopaminergic Agonists (สารคล้าย Dopamine)
            2. ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งมักจะได้รับการศึกษาถึงผลในการรักษาอาการขาดยามากกว่าการป้องกันการเสพซ้ำ (Relapse Prevention)

             ยาอื่นๆ และการรักษาวิธีอื่นๆ  มีการศึกษาจำนวนมากรายงานถึงการทดลองใช้ยาหลายชนิดในการรักษาโคเคน เช่น ยา Carbamazepine ซึ่งยังให้ผลขัดแย้งกันอยู่ ยา Disulfirum ซึ่งใช้ัรักษา Alcohol ก็ใช้ได้ดีในผู้ป่วยที่ใช้ทั้ง Alcohol และโคเคนร่วมกัน ยา Burprenorphine กลับได้ผลในทางลบ กับผู้ที่เสพสารพวกฝิ่นและโคเคนร่วมกัน

            ปัจจุบันวิทยาการด้านพันธุวิศวกรรม ได้มีการศึกษาถึงขั้นที่ว่าอาจมีวัคซีนที่ใช้รักษาผู้เสพสารโคเคนได้ในอนาคต

2. การรักษาทางพฤติกรรม

            เป็นที่ทราบกันว่า การรักษาทางพฤติกรรมมีความจำเป็นในผู้ป่วยโคเคน โดยมีเป้าในการรักษา คือ สามารถลดพฤติกรรมที่จะเสี่ยงต่อการอยากใช้ยาโคเคนและสนับสนุนให้มีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้เสพไม่อยากใช้โคเคน โดยอาจมีการให้รางวัลบางอย่างเป็นสิ่งล่อใจให้เลิกพฤติกรรมเสี่ยงและงด หรือลดรางวัลเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง มีผลการศึกษาหลายฉบับรายงานผลการรักษาทางพฤติกรรมดังนี้

            การศึกษาของ Ashew และ Crowly (ค.ศ.1982) รายงานว่าถ้ารักษาทางพฤติกรรมร่วมด้วย ผู้เสพสามารถหยุดโคเคนอย่างน้อย 3 เดือน ได้ถึง 80% แต่กลับไปเสพซ้ำหลังยุติการรักษาเพียง 50% ส่วนผู้ไม่ได้รับการรักษาทางพฤติกรรม กลับไปติดซ้ำถึง 90%

 แนวทางการรักษาผู้ป่วยติดโคเคน

- การรักษาผู้เสพโคเคน จำเป็นต้องมีการรักษาทั้งทางกาย จิตและสังคม ควบคู่กันไป ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การซักประวัติต่างๆ อย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด เพื่อตรวจพิสูจน์หาสารเสพติด ซึ่งผู้ตรวจต้องระวังว่า ปัจจุบันผู้เสพอาจเสพสารเสพติดหลายชนิดร่วมกัน เช่น โคเคนกับ Alcohol หรือ Heroin ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

- การให้ยากลุ่ม Neuroleptic อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรวมทั้งอาการ Delirium และเราอาจจะให้ยาบางอย่างเพื่อลดอาการอยากยา

- ในระยะท้ายของการขาดยา อาจจำเป็นต้องให้ยาต้านซึมเศร้า เพราะผู้เสพมักมีอาการซึมเศร้าในระยะนี้ ผู้ป่วยเสพโคเคนอาจจะรักษาเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกก็ได้ แต่ต้องระวังว่าถ้าเป็นผู้ป่วยนอก ผู้รักษาจำเป็นต้องระวังการเสริมฤทธิ์กันของยาที่ใช้รักษากับโคเคน (ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจกลับไปใช้โคเคนร่วมด้วย)

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 15 January 2007 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >