หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การให้บริการเข้าถึงชุมชนเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยา พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010

ชื่อเรื่อง    การให้บริการเข้าถึงชุมชนเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยา
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์
ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่
ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดสงขลา
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2549

บทคัดย่อ
    วัตถุประสงค์    เพื่อเพิ่มศักยภาพการบำบัดรักษายาเสพติดของสถานบำบัด เครือข่ายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเข้าถึงชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ ศึกษารูปแบบการให้บริการเข้าถึงชุมชน และศึกษาลักษณะของผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและผลกระทบจากการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด โดย ศึกษา 3 พื้นที่ที่มีสถานบำบัดรักษายาเสพติดตั้งอยู่ คือ
     1. สถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี ชุมชนประชาธิปัตย์ ชุมชนรังสิต และอำเภอธัญบุรี
     2. ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง
     3. ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด จังหวัดสงขลา ชุมชนเก้าเส้ง อำเภอเมือง

โดยมีผลการศึกษา ดังนี้
     1. การเพิ่มศักยภาพการบำบัดรักษายาเสพติดให้แก่สถานบำบัดรักษายาเสพติดและเครือข่ายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเข้าถึงชุมชน โดยการประชุมชี้แจงนโยบาย หลักสูตร 1 วัน และอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้บริการเข้าถึงชุมชนหลักสูตร 3 วัน ผู้เข้าร่วมประชุมอบรม ครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษายาเสพติดและหน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชนได้แก่ สถานบำบัดรักษายาเสพติดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ เทศบาล กลุ่มที่สอง เป็นองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้แก่ ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มองค์กรเอกชน (NGOs) เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด และผู้นำชุมชน โดยผู้บริหารระดับสูงของแต่ละหน่วยให้การยอมรับ และมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ผู้บริหารสถานบันธัญญารักษ์มอบนโยบายที่ชัดเจนแก่ทุกพื้นที่ ทำให้มีทิศทางการดำเนินงานเป็นแนวทางเดียวกัน มีการประสานงานและดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมในทุกพื้นที่ทั้งฝ่ายปราบปราม ฝ่ายบำบัดรักษา และฝ่ายประชาชน เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องที่เข้ารับการอบรมมีความรู้ ทัศนคติ และได้รับการฝึกปฏิบัติจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้บริการเข้าถึงชุมชนรวมทั้งแนวทางการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด มุ่งมั่นที่จะค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชน รวมถึงพัฒนารูปแบบบริการเข้าถึงชุมชนขณะปฏิบัติงาน
     2. รูปแบบการให้บริการเข้าถึงชุมชน
          2.1  การให้ความรู้ชุมชนเป็นการเตรียมชุมชนเพื่อเป็นบานการเข้าถึงผู้ใช้ยาอย่างยั่งยืน โดยการสร้างสัมพันธภาพกับผู้นำชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ และวัตถุประสงค์ของการให้บริการเข้าถึงชุมชน อบรม สาธิต และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดและเอดส์ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด การค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด เป็นต้น ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้นำชุมชนผู้ประสานพลังแผ่นดิน อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนในชุมชนทำให้คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้ใช้ยาเสพติด รวมทั้งร่วมค้นหา ผู้ป่วยในชุมชน และเผยแพร่ความรู้ได้แก่คนในชุมชน เป็นการป้องกัน ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง และลดผลกระทบจากการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชน
          2.2  รูปแบบการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน มี 2 รูปแบบ
               1)  ผู้ให้บริการและอาสาสมัคร อาสาสมัครในที่นี้คือ ผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชนที่โครงการนี้เข้าถึง เป็นการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดในสถานที่ที่ผู้ใช้ยาเสพติดชอบไป เช่น สถานบำบัดคลินิกเอกชน ที่อยู่อาศัยในชุมชน โดยการเยี่ยมบ้าน การนัดพบ การจูงใจ ซึ่งผู้ใช้ยาเสพติดที่สามารถแนะนำ/พาเพื่อนผู้ใช้ยาเสพติดมารับบริการ จะได้ค่าตอบแทนรายละ 100 บาท
               2)  กลุ่มช่วยเหลือกันเอง สถาบันธัญญารักษ์ เรียก “บ้านอุ่นไอรัก” เป็นแหล่งนัดพบของผู้ใช้ยาเสพติดและครอบครัว โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเป็นที่ปรึกษา ใช้สถาบันธัญญารักษ์เป็นแหล่งนัดพบปะพูดคุย วัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้และฝึกทักษะการป้องกัน และลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ดูแลสุขภาพอนามัย ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใช้ยาเสพติดอยู่ในครอบครัว และสังคมได้อย่างมีความสุข รวมทั้งสร้างและขยายเครือข่ายการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด มีกติกา และกิจกรรมร่วมกัน มีการให้คำปรึกษารายบุคคล และรายกลุ่ม บริการสุขภาพ เป็นแหล่งคลายเครียดและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับสมาชิกในบ้านอุ่นไอรัก มีคณะกรรมการรับผิดชอบ มีจัดบริการอาหารว่าง และอาหารกลางวัน พร้อมค่าเดินทางเพื่อชดเชย และจูงใจในการเจ้าร่วมกิจกรรม ซึ่งพบว่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นทั้งผู้ใช้ยาเสพติด และครอบครัวเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ
จำนวนผู้ใช้ยาเสพติดที่โครงการนี้เข้าถึงรวมทั้งสิ้น 93 คน จำแนกตามพื้นที่การศึกษาดังนี้
สถาบันธัญญารักษ์ ค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดได้ รวม 25 คน ต้องการรับเมทาโดน 1 คน
ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ ค้นหาและเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดได้รวม 68 คน ต้องการรับเมทาโดน 12 คน
ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดสงขลา ยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดได้ เนื่องจากทีมลงชุมชนรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากการขัดผลประโยชน์ในเรื่องของยาเสพติด ชุมชนต้องการปราบปรามมากกว่าบำบัด และทีมขาดประสบการณ์ในการลงพื้นที่ในเวลาจำกัด เพียงแค่ 2 เดือน
     3.  ลักษณะของผู้ใช้ยาเสพติด
ภาพรวมของผู้ใช้ยาเสพติดที่สถาบันธัญญารักษ์ และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ เข้าถึงมีดังนี้
          3.1  ข้อมูลพื้นฐาน
          ผู้ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่ เพศชาย มากกว่าเพศหญิง อยู่ในช่วงอายุ 21 – 40 ปี อยู่ในชุมชนใกล้เคียงและสื่อสารถึงกัน สถานภาพโสด คิดเป็นร้อยละ 62 สมรส คิดเป็นร้อยละ 29 หย่าหรือแยกกันอยู่ คิดเป็นร้อยละ 9 ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี อาชีพรับจ้างทั่วไป และว่างงาน
          3.2  การรับรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ HIV/AIDS
          ผู้ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่รู้จัก HIV/AIDS ไม่รู้จักร้อยละ 12 – 24 โดยทราบว่าสามารถติดเชื้อ HIV/AIDS ได้ทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด และจากแม่สู่ลูก ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 62 – 68 ไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือด ผลการตรวจเลือด ครั้งสุดท้ายผู้ใช้ยาเสพติดไม่ต้องการเปิดเผยผลเลือดคิดเป็นร้อยละ 4 – 39 ผลเลือดเป็นลบ คิดเป็นร้อยละ 12 – 36 ผลเลือดเป็นบวก คิดเป็นร้อยละ 3 – 4 และไม่ทราบผลเลือด คิดเป็นร้อยละ 46-56
          3.3  พฤติกรรมการใช้ยาเสพติด
          ประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด พบว่าผู้ใช้ยาเสพติดไม่เคยเข้ารับการบำบัด คิดเป็นร้อยละ 44 – 69 เคยเข้ารับการบำบัดจากภาครัฐและเอกชน คิดเป็นร้อยละ 16 – 25 เคยเข้ารับการบำบัดจากภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 26 เคยเข้ารับการบำบัดจากภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 9 มีความต้องการที่จะเลิกยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 17 – 63 ไม่อยากเลิกคิดเป็นร้อยละ 20 – 24 ยังไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 17 – 59 ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาผู้ใช้ยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 60 – 74 ยังคงใช้ยาเสพติดชนิดฉีด โดยฉีดทุกวัน คิดเป็นร้อยละ 7 – 50 ฉีด แล้วแต่โอกาส คิดเป็นร้อยละ 29 – 71 ยาเสพติดที่ใช้คือ เฮโรอีน รองลงมาได้แก่ ยาบ้า และสุรา มีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 12 – 24 และส่วนใหญ่นิยมทำความสะอาดเข็มฉีดยาด้วยการล้างน้ำสะอาด
          3.4  พฤติกรรมทางเพศ
          ระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมาผู้ใช้ยาส่วนใหญ่มีคู่นอนหลัก นิยมเปลี่ยนคู่นอน ร้อยละ 28 – 39 ขณะมีเพศสัมพันธ์ มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์คิดเป็นร้อยละ 29 – 36 ใช้ถุงยางอนามัยเป็นบางครั้ง คิดเป็นร้อยละ 8 – 40 ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเลย คิดเป็นร้อยละ 22 – 32 และไม่มีเพศสัมพันธ์ คิดเป็นร้อยละ 9 – 24
          3.5  การรับรู้เกี่ยวกับ โครงการ Out reach Programe
          ผู้ใช้ยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 48 – 46 ไม่รู้จักโครงการนี้ ส่วนใหญ่ที่รู้จักทราบจากเพื่อนที่ใช้ยาด้วยกัน วิธีการเข้าถึงผู้ใช้ยา โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ใช้ยาเสพติด ความต้องการของผู้ใช้ยา ที่มีต่อโครงการ คือ ความรู้ และทักษะ การลดอันตราย คิดเป็นร้อยละ 70 – 79 ต้องการคำปรึกษา และสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 66 – 79 ต้องการให้คำปรึกษา เรื่องการตรวจเลือด คิดเป็นร้อยละ 50 – 72 ความช่วยเหลือที่ผู้ใช้ยาของสถานบันธัญญารักษ์ต้องการ คือ การเข้ารับการบำบัดรักษา คิดเป็นร้อยละ 58 การแจกถุงยาง คิดเป็นร้อยละ 46 ค่าตอบแทน คิดเป็นร้อยละ 41 การแจกเข็มฉีดยา คิดเป็นร้อยละ 37 และการตรวจเลือดเอดส์ฟรี คิดเป็นร้อยละ 33 ผู้ใช้ยาในพื้นที่ของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ ต้องการค่าตอบแทน คิดเป็นร้อยละ 85 ตรวจเลือดเอดส์ฟรี คิดเป็นร้อยละ 75 แจกถุงยาง คิดเป็นร้อยละ 72 แจกเข็มฉีดยา คิดเป็นร้อยละ 62 และเข้ารับการบำบัดคิดเป็นร้อยละ 59

ข้อสังเกต ผู้ใช้ยาเสพติดในพื้นที่ของสถาบันธัญญารักษ์ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายผู้ใช้ยาภาคเอกชน ส่วนผู้ใช้ยาเสพติดในพื้นที่ของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกองค์กรเอกชนและเครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่

ข้อจำกัด
การวิจัยยังไม่สามารถบอกผลการลดพฤติกรรมเสี่ยง และผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดได้เนื่องจากใช้เวลาในการศึกษาเพียง 2 เดือน

ข้อเสนอแนะทั่วไป

แนวทางการจัดบริการเข้าถึงชุมชน เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ควรประกอบด้วย
1.  การพัฒนาศักยภาพสถานบำบัด
1.1  เผยแพร่องค์ความรู้และจัดทำหลักสูตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดให้กับบุคลากรต่าง ๆ ทั้งฝ่ายปราบปราม ฝ่ายบำบัด ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายสาธารณสุข และภาคประชาชนเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยของสาธารณชนโดยรวม เป็นต้น
1.2  มีเจ้าภาพหลักในการจัดบริการเข้าถึงชุมชน เข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติดเชิงรุกที่ครอบคลุมและต่อเนื่องในพื้นที่แพร่ระบาด เพื่อการกวาดล้าง ปกป้อง ป้องกันได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมโดยจัดบริการเชิงระบบร่วมกับพัฒนาฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ เป็นการขยายฐานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
1.3  แรงจูงใจ ค่าตอบแทนที่เป็นรูปธรรมในการค้นหา และเข้าถึงผู้ผู้ใช้ยาเสพติดจะส่งผลถึงประสิทธิผลการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด
1.4  การจัดบริการรองรับและระบบส่งต่อ ควรเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และควรเป็นบริการฟรีที่ไม่มีข้อจำกัดในด้านกำลังทรัพย์ เช่น คลินิกเมทาโดน จุดนัดพบต่าง ๆ ทั้งในสถานบำบัด ในชุมชน เช่น บ้านอุ่นไอรัก
1.5  การติดตามประเมินผลและการควบคุมกำกับ การค้นหาผู้ป่วยภาคสนามในชุมชนควรมีการติดตามประเมินผลและควบคุมกำกับ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน
2.  แนวทางการลดพฤติกรรมเสี่ยงและผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด คือ การสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ยาเสพติดได้รับความรู้เรื่องการลดอันตราย การเข้าถึงการบริการ การมีอาชีพ มีงานทำ โอกาสการเจาะเลือดและการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ตามมาตรฐาน

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
1.  ควรมีการติดตาม ศึกษาทางระบาดวิทยายาเสพติดและเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อนและโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ และการศึกษาระยะยาวแบบไปข้างหน้า (Prospective Study) ในรายผลบวกและผลลบ
2.  บริการเข้าถึงชุมชนที่ครอบคลุม และเป็นบริการให้เปล่าจะสามารถเข้าถึงและครอบคลุมผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงใด
3.  การศึกษาต้นทุน ประสิทธิผลการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มบริการเข้าถึงชุมชน และกระตุ้นบริการที่ให้เปล่าเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด
4.  การวิจัยและพัฒนามาตรการทางสังคม/กฎหมายให้ครอบครัว ชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งการสาธารณสุขระดับตำบลมีส่วนร่วมรับผิดชอบ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดการศึกษาวิถีทางเพศของผู้ใช้ยาเสพติด

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
    ปัญหาการเสพยาเสพติดกับเอดส์ เป็นปัญหาที่เริ่มได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งบางครั้งมองว่าเป็นปัญหาเล็ก แต่ความรุนแรงสูงนำมาซึ่งการสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนประสิทธิผลต่ำ ดังนั้น การปกป้องและป้องกัน รวมทั้งการพัฒนาการดูแลปัญหายาเสพติดกับเอดส์เชิงนโยบายควรดำเนินการดังนี้
1.  เผยแพร่และทำความเข้าใจกับผู้บริหารและผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข
2.  การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ควรครอบคลุมผู้ใช้ยาเสพติดทุกประเภทให้สอดคล้องกับระบาดวิทยาของปัญหาปัจจัยความเสี่ยง และครอบคลุมทุกองค์ประกอบ
3.  กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนแม่บท การปกป้อง ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหายาเสพติดกับเอดส์ให้เป็นรูปธรรม

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
ถัดไป >