หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง    :    การพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา
ผู้วิจัย    :    สำเนา     นิลบรรพ์, สุวภัทร    คงหอม และกัญญา   ภู่ระหงษ์
ปี    :    มกราคม 2549

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา และศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยสุราต่อโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุราในระยะบำบัดด้วยยา โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยบุคลากรที่ให้การบำบัดและผู้ป่วยสุราที่เข้ารับการบำบัดรักษาในสถาบันธัญญารักษ์ เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา แบบบันทึกการจัดกิจกรรม แบบสัมภาษณ์และแนวทางการสนทนากลุ่มการประเมินผลโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา และแบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจต่อโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา ดำเนินการศึกษา 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การหาปัญหาและพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา โดยใช้แนวคิดบูรณาการแบบสหวิชาชีพ  ได้แก่  พยาบาล  นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์  นักสุขศึกษา  นักกายภาพบำบัด และนักอาชีวบำบัด จำนวน 13 คน ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา ได้โปรแกรมประกอบด้วยด้านเนื้อหา 11 ด้าน และด้านกิจกรรมบำบัด 51 กิจกรรม ใช้เวลาในการพัฒนาโปรแกรม 3 เดือน ระยะที่ 2 การนำแผนไปดำเนินการ โดยนำโปรแกรมกิจกรรมบำบัดไปทดลองกับผู้ป่วยสุราจำนวน 16 คน ระยะที่ 3 ประเมินผลการปฏิบัติ โดยนำผลการประเมินโปรแกรมในระยะที่ 2 มาปรับปรุง และระยะที่ 4 การนำไปปฏิบัติใหม่ นำโปรแกรมที่ปรับปรุงแล้วไปใช้กับผู้ป่วยสุราจำนวน 11 คน และศึกษาความพึงพอใจต่อโปรแกรมกิจกรรมบำบัด รวมระยะเวลาวิจัยทั้งสิ้น 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการศึกษา  พบว่า  
    1. ได้โปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา  ประกอบด้วยด้านเนื้อหา 10 ด้าน และ 45 กิจกรรม
    2. ความพึงพอใจต่อโปรแกรมกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยสุรา ผู้ป่วยสุราทุกคนมีความพึงพอใจต่อโปรแกรมกิจกรรมบำบัด โดยแบ่งออกเป็น 3  ด้าน คือ ด้านวิทยากร เห็นว่า การใช้วิทยากรแบบสหวิชาชีพเป็นสิ่งที่ดี วิทยากรมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทำให้ได้รับความรู้และแนวคิดที่หลากหลาย ด้านเนื้อหากิจกรรม เห็นว่าโปรแกรมที่ได้รับเหมาะสมและมีประโยชน์ ได้รับความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยสุรา สุขภาพร่างกายแข็งแรง  เกิดความรู้สึกอยากเลิกดื่มสุรา ครอบครัวยอมรับ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ลดเวลาว่างในการบำบัดและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และนำไปทำเป็นกิจการในครัวเรือนหรือประกอบอาชีพ  สำหรับด้านระยะเวลา ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมบำบัดแต่ละครั้งนาน 60 – 90 นาที นั้น มีความเหมาะสม ส่วนระยะเวลาบำบัด 4 สัปดาห์นั้นน้อยเกินไป ยังไม่สามารถทำให้เลิกดื่มสุราได้ ควรใช้เวลาในการบำบัด 6 สัปดาห์ – 4 เดือน
ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ  ผู้ป่วยสุราที่มีปัญหาสมองเสื่อม กิจกรรมบำบัดควรเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้การกระตุ้นและจูงใจมากกว่ากิจกรรมที่ใช้ความคิดและการวิเคราะห์
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า