หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


โครงการบูรณาการเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง        การดำเนินงานโครงการบูรณาการเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน
ภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ณ ชุมชนหมู่ที่ 3 เทศบาลเมืองรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2548

บทคัดย่อ

    การวิจัยประเมินผลโครงการบูรณาการเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน หมู่ 3 เทศบาลรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ ซึ่งสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการบูรณาการเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนตามขั้นตอนโดยศึกษาชุมชน เตรียมชุมชน ประชุมเชิงปฏิบัติการ A.I.C. เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดภาพของชุมชนที่ต้องการให้เป็นร่วมกันจากนั้นจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวชุมชนร่วมกันคิดกิจกรรมที่จะนำไปสู่ภาพที่ต้องการร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมที่ชาวชุมชนหมู่ 3 ร่วมกันคิด และร่วมกันดำเนินงานได้แก่ 1. กิจกรรมเวทีชาวบ้าน 2. กิจกรรมครอบครัวมีสุข 3. กิจกรรมชมรม To Be Number 1 4. กิจกรรมบำบัด/เยี่ยมชุมชน 5. ชุมชนสีขาว 6. พัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน 7. พัฒนาอาชีพ และ 8. ธรรมะในชุมชน นอกจากกิจกรรมที่ชุมชนร่วมกันจัดทำแล้วคณะทำงานโครงการก็ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนด้วย 7 กิจกรรม ดังนี้ 1. กิจกรรมการดูงานการบำบัดรักษายาเสพติด 2. กิจกรรมอบรมหลักสูตร “สัมผัสรัก สัมผัสใจ ให้ครอบครัวอบอุ่น” 3. กิจกรรม Walk Rally ครอบครัว 4. กิจกรรมอบรม “ประชาสัมพันธ์ในชุมชน” 5. กิจกรรมการปฏิบัติธรรมสำหรับคนในชุมชน 6. กิจกรรมการป้องกันยาเสพติดในเยาวชน และ 7. กิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวและป้องกันยาเสพติดสำหรับครอบครัวและเยาวชน การประเมินผลโครงการประเมินตามเกณฑ์ชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนด้วย 9 เกณฑ์ชี้วัดตามที่โครงการกำหนดเก็บรวบรวมข้อมูลจากความคิดเห็นของคนในชุมชนก่อนและหลังการดำเนินการโครงการด้วย แบบสอบถาม ประเมินความเข้มแข็งของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน
    ผลการประเมินพบว่าก่อนการดำเนินการโครงการเกณฑ์ชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนมีเพียงเกณฑ์ชี้วัดเดียวที่อยู่ในระดับปานกลาง คือ ชุมชนตระหนักในปัญหายาเสพติด ส่วนอีก 8 เกณฑ์ชี้วัดอยู่ในระดับน้อย ได้แก่ 1. ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 2. ชุมชนมีองค์กรนำที่เข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3. ชุมชนพึ่งตนเองได้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 4. ชุมชนสามารถป้องกันไม่ให้มีผู้ค้ายาเสพติด 5. ชุมชนสามารถดำเนินการให้ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟู และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 6. ในชุมชนมีงานพัฒนาด้านอื่นมารองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 7. ปัจจัยด้านลบในชุมชนอยู่ในการควบคุมหรือถูกจำกัด และ 8. ชุมชนมีการสร้างปัจจัยบวกเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง หลังการดำเนินการโครงการพบว่ามีเพียงเกณฑ์ชี้วัดเดียวที่อยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ชุมชนตระหนักในปัญหายาเสพติด ส่วนอีก 8 เกณฑ์ชี้วัดที่เหลือไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน
    ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากชุมชนหมู่ที่ 3 เป็นชุมชนเขตเมือง คนส่วนใหญ่ต้องทำงานประจำ เช่นพนักงานบริษัท/โรงงาน รับราชการ เวลาที่จะให้กับชุมชนหรือส่วนรวมในการทำกิจกรรมจึงมีน้อยนอกจากความร่วมมือในเทศกาลต่าง ๆ ประกอบกับแกนนำชุมชนก็มีงานอาชีพของตนเองที่ต้องทำเช่นกัน เป็นผลให้การดำเนินกิจกรรมตามโครงการเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีคนต่างถิ่นที่เข้ามาพักอาศัยตามบ้านพัก อพาร์ทเม็นต์ ซึ่งมีหลายแห่งในชุมชนหมู่ 3 และชาวชุมชนไม่สามารถควบคุมและป้องกันการใช้ยาเสพติดได้ จะเห็นได้ว่านอกจากความร่วมมือของคนในชุมชนแล้วองค์ประกอบอื่นของชุมชนก็มีความสำคัญต่อการดำเนินการโครงการเช่นกัน
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
ถัดไป >