หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่องวิจัย : การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า (ระยะที่ 1)
ชื่อผู้วิจัย     : นันทรี สารสุวรรณ, สำเนา   มากแบน, วันเพ็ญ  ใจปทุม, รัตนา   ดาวเรือง, นันธณา  อินทรพรหม,
                 สุกุมา  แสงเดือนฉาย และคณะ

บทคัดย่อ
       การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการค้นหาปัญหาและวางแผนการพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า ส่วนระยะที่ 2 เป็นการปฏิบัติการและประเมินผลของรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้าที่นำไปใช้  ในการศึกษาระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาในการให้การพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า และนำปัญหาที่ได้มาวางแผนเพื่อพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยมีแนวคำถามแบบกึ่งโครงสร้าง ผู้ให้ข้อมูลมีจำนวนทั้งหมด 18 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารการพยาบาล  พยาบาลวิชาชีพ  ผู้ช่วยเหลือคนไข้  ผู้ป่วยเสพติดยาบ้า และญาติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีจัดกลุ่มเนื้อหา (coding) และวิเคราะห์เนื้อหา (content  analysis)

       ผลการศึกษาพบว่า
       ลักษณะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของพยาบาล ลักษณะงานที่พยาบาลปฏิบัติ แบ่งเป็น 3 งานใหญ่ๆ คือ งานบริการการพยาบาลผู้ป่วย งานบริการด้านวิชาการ และงานการพัฒนาคุณภาพร่วมกับหน่วยงานอื่น ซึ่งงานบริการการพยาบาลผู้ป่วยนั้นพยาบาลจะปฏิบัติงานใน 2 ลักษณะ คือ 1) การพยาบาลผู้ป่วยโดยตรง เป็นหน้าที่หลักของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม 2) การพยาบาลผู้ป่วยโดยอ้อม เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารต่างๆและการปฏิบัติที่เอื้อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย งานเอกสาร การติดต่อสื่อสารกับญาติ การดูแลทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมใช้งาน และการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ งานบริการด้านวิชาการ เป็นงานเกี่ยวกับการเป็นวิทยากรให้ความ้รูแก่ผู้ที่มาศึกษาดูงานในโรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน หรือตามที่หน่วยงานต่างๆขอรับการสนับสนุน และงานการพัฒนาตนเองของพยาบาล โดยการอบรมในหลักสูตรต่างๆ การทำวิจัย  ส่วนงานพัฒนาคุณภาพร่วมกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ งานพัฒนาคุณภาพ งาน 5 ส. เป็นต้น
       ปัญหาการพยาบาลผู้ป่วยยาบ้าในปัจจุบันพบว่า มีปัญหาทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ การพยาบาลที่เน้นกิจกรรมบำบัดยังไม่เหมาะสม ลักษณะผู้ป่วยยาบ้าที่มีอาการทางจิตส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอื่น งานบริการการพยาบาลผู้ป่วยโดยตรงมีน้อยไป   อัตรากำลังพยาบาลไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วย  และการบันทึกทางการพยาบาลมีคุณภาพไม่เพียงพอ
       ส่วนการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้าที่คาดหวังนั้น เจ้าหน้าที่พยาบาลคาดหวังว่า ให้การพยาบาลโดยตรงมากขึ้น มีระบบที่ชัดเจน สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้น  มีการกระจายงานซึ่งไม่ใช่งานของพยาบาลให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน รวมทั้งประการสำคัญพยาบาลมุ่งหวังที่จะให้มีการบันทึกการพยาบาล เพื่อให้การพยาบาลมีคุณภาพ ส่วนความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ  มุ่งเน้นที่ให้พยาบาลให้การดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น ส่วนการให้บริการในตึก ต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับความสนุกสนาน มีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรม บำบัด มากหรือดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ลดความขัดแย้งในหมู่ผู้ป่วยด้วยกันเกี่ยวกับการขโมย เกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีภาวะสุขภาพจิตแทรกซ้อน และประการสำคัญก็คือ ควรจัดการให้มีการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวได้ด้วยตนเอง
       ผลการศึกษาดังกล่าวผู้วิจัยได้นำไปวางแผนการพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเสพติดยาบ้า เพื่อนำไปปฏิบัติการในระยะที่ 2 ต่อไป
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >