หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


รางวัลธัญญารักษ์อวอร์ด ประจำปี 2565 พิมพ์
Friday, 01 December 2023
ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ชื่อผลงาน : “การดูแลผู้ป่วยเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในกลุ่มชายรักชาย”
การดำเนินงาน : National LGBTI Health Alliance ได้เสนอข้อมูลว่ากลุ่มชายรักชายนั้นพบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าประชากรทั่วไป อีกทั้งยังพบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการใช้ยาเสพติดในอัตราที่สูงมากถึงร้อยละ 30 ซึ่งมากกว่าประชากรทั่วไปเกือบ 4 เท่า แต่ในระบบการบำบัดรักษายาเสพติดนั้น พบว่ามีจำนวนน้อยมากที่เข้าสู่ระบบการบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบสมัครใจ ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มประชากรดังกล่าวเป็นกลุ่มสังคมแบบปิด สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นการยากที่จะเข้าถึง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจน

กระแสสังคมในปัจจุบัน รูปแบบการใช้ยาเสพติดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัต ทั้งวงจรการใช้ จุดประสงค์ในการใช้ รวมถึงรูปแบบในการนำเข้าสู่ร่างกาย เป็นผลก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งในกลุ่ม MSM มักใช้ประกอบกับกิจกรรมทางเพศ หรือที่เรียกว่า Chem.sex ซึ่งมาจากคำว่า Chemical sex อันหมายถึง การใช้สารเพื่อหวังผลเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ และมักนิยมจัดงานปาร์ตี้เพื่อเสพยาและมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มกัน ใช้รูปแบบการนำสารเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำ ปัญหาที่ตามมาคือการติดยา/เพศสัมพันธ์ STI ความรุนแรง และอาชญากรรม โดยเห็นได้ตามรายงานข่าวในปัจจุบันเป็นระยะๆ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จนเป็นที่สนใจและขยายวงกว้างออกไปในต่างประเทศ เห็นได้จากการเข้ามาขอข้อมูลสัมภาษณ์จากสำนักข่าวต่างประเทศ ได้แก่ สำนักข่าว Reuters และสำนักข่าว AFP ถึงสถานการณ์และรูปแบบการดูแลประชากรกลุ่ม Chem.sex ในประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศ เพื่อจัดชุดบริการ เพื่อการดูแลให้ความช่วยเหลือ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการดึงการมีส่วนร่วมจากองค์กรที่จัดกิจกรรม และกลุ่มผู้มีชื่อเสียงของประชากรกลุ่มดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึง จูงใจ และนำพาไปสู่การให้ความร่วมมืออันดีจากกลุ่มเป้าหมาย

ผลลัพธ์ :
มีการจัดตั้ง “ศูนย์ให้บริการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ในชุมชนความหลากหลายทางเพศ แห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย” ณ KRUBB Bangkok Gay community เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10 เมษายน 2564 และได้ขยายจุดบริการไปสู่แห่งที่ 2 และ 3 แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการผลักดันให้เกิดอาสาสมัครและแกนนำให้คำปรึกษา ตลอดจนการพัฒนาระบบการส่งต่อเพื่อป้องกันและรักษา STI อย่างเป็นระบบชัดเจน ทำให้จุดบริการแห่งนี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้บริการที่เป็นมิตร สร้างความเชื่อใจกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงได้ยาก ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน รวมทั้งสิ้นกว่า 14 แห่ง มีผู้เข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น 524 ราย และกว่า 80% ได้รับบริการจากชุดบริการต่างๆอย่างครบถ้วน และได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง

ชื่อผลงาน : โครงการล่าสุดที่ดำเนินการและร่วมดำเนินการ ดังนี้  
1. การดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาคลินิกจิตเวชสารเสพติดและระบบบริการในโรงพยาบาลชุมชน  
2. โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราและยาเสพติด
3. โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMIV) จังหวัดอุบลราชธานี  
4. โครงการป้องกันปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายและประเด็นสารเสพติดในวัยรุ่น  
5. การศึกษา “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนวินิจฉัยเป็นโรคจิตเภทในผู้ที่มีวินิจฉัยเดิมเป็นโรคจิตจากสารเสพติด บริบทนอกเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี”
6. โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายและประเด็นสารเสพติด โซนสอง จังหวัดอุบลราชธานี                  
7. โครงการพัฒนาระบบป้องกันและดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราอย่างมีส่วนร่วม
8. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการขาดสุราหรือแอลกอฮอล์ โรงพยาบาลตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี : คู่มือเบื้องต้นสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์
9. การพัฒนาแบบประเมินระดับความรุนแรงของพฤติกรรมก่อความรุนแรงในผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง
10. การศึกษา “อัตราการหายของภาวะขาดสุราหลังจากใช้แนวทางการรักษาของโรงพยาบาลศรีนครินทร์

การดําเนินงาน :  ดำเนินงานต่อเนื่องผนวกร่วมกับงานด้านจิตเวชและสารเสพติดของโรงพยาบาล สานต่อโครงการเดิมและสร้างโครงการเพิ่มเติมในแต่ละปีงบประมาณเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้เสพสารเสพติดในพื้นที่ เน้นให้เกิดความเข้าใจทัศนคติที่เหมาะสม และความร่วมมือจากผู้ดูแล ครอบครัว คนใกล้ชิด ญาติ และชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อออกห่างจากสารเสพติดให้ได้มากที่สุดหรือนานที่สุด ไปจนถึงเลิกเสพสาร รวมถึงการสร้างสังคมหรือบริบทที่เอื้อต่อการปลอดสารเสพติดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ผลลัพธ์ : เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพ การทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่วิถีชีวิตที่เหมาะสม มีอาชีพ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว, ผู้ที่เลิกสารได้สำเร็จแล้วสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และส่งต่อประสบการณ์ ส่งต่อกำลังใจให้กับผู้กำลังอยู่ในขั้นตอนเลิกสารเสพติดได้ ครอบครัวและชุมชนเกิดความรู้สึกด้านบวก ให้การยอมรับผู้ที่เลิกสาร และเป็นกำลังใจให้สามารถเลิกได้ต่อเนื่อง

ชื่อผลงาน : การพัฒนากระบวนการดูแลหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดที่ใช้ยาและสารเสพติด ในการมารับบริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม (โปรแกรม “บันไดชีวิต 8 ขั้น”)
การดําเนินงาน
1. การคัดกรอง  มีกระบวนการตรวจคัดกรองยาและสารเสพติดในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์รายใหญ่ทุกราย และรายเก่าที่ยังตรวจไม่พบยาและสารเสพติด ทุก 3 เดือน และตรวจก่อนการคลอดอีกครั้ง
2. การถอนพิษ ในรายที่ได้รับการประเมินตามกระบวนแล้วพบว่ามีอาการทางจิตที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยา จะมีการส่งต่องานจิตเวชเพื่อให้การรักษาตามแผน
3. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ในด้านกาย จิต สังคม
กระบวนการที่ 1 ประเมินสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์ / มารดาหลังคลอด และสามี ที่ตรวจพบมีการใช้ยาและสารเสพติดทุกราย
กระบวนการที่ 2 ประเมินการเลี้ยงดูบุตร  เพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรร่วมกับครอบครัวและชุมชน
กระบวนการที่ 3 การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ในด้านกาย จิต สังคม ผ่านโปรแกรม “บันไดชีวิต 8 ขั้น” เพื่อลูกรัก โดยเน้นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรม (ชวนมอง ชวนคิด ชวนแก้) ทั้งหญิงตั้งครรภ์ / มารดาหลังคลอด และครอบครัว
กระบวนการที่ 4 การติดตามดูแลช่วยเหลือในชุมชน โดยมี ผู้นำชุมชนตาสับประรด ที่คอยสอดส่องรายงานความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด มี อสม. แม่นม ที่คอยดูแลในการติดตามเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด
4. การติดตามประเมินผล มีการติดตามประเมินผลหลังการคลอดเพื่อประเมินการเลี้ยงดูบุตรและการให้นมบุตรตามเงื่อนไข (มารดาหลังคลอดต้องหยุดเสพยาอย่างน้อย 1 เดือน ถ้ามารดาหลังคลอดหยุดเสพยาไม่ได้ต้องงดให้นมบุตรตามเงื่อนไข)  มีการลงติดตามเยี่ยมบ้านพร้อมทีมภาคีเครือข่าย

ผลลัพธ์

1. ผู้รับบริการ หญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดรวมทั้งสามี  ได้รับการดูแลช่วยเหลือตามกระบวนการบำบัดรักษารักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดแบบบูรณาการตามบริบทของพื้นที่ ในปี 2564 จำนวน 10 ราย (กลับไปเสพซ้ำ 7 ราย) และ ปี 2565 จำนวน 5 ราย (กลับไปเสพซ้ำ 3 ราย)
2. ครอบครัวและชุมชน  ครอบครัวและชุมชนได้รับรู้ถึงกระบวนการบำบัดรักษารักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดแบบบูรณาการและได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตามรายกรณี
3. หน่วยงาน / องค์กรผู้ให้บริการ มีกระบวนการดูแลหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดที่ใช้ยาและสารเสพติดที่มารับบริการอย่างเป็นระบบ ที่เกิดจากการทบทวนปัญหาหน้างาน นำมาวิเคราะห์  ถอดบทเรียน  นำไปใช้จริงในการปฏิบัติงานที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กรในระดับ คปสอ.ธาตุพนม

ชื่อผลงาน :  การสร้างแรงจูงใจ  ไม่ให้หลบหนี เพื่อคืนคนดี สู่สังคม
การดำเนินงาน : เริ่มต้นจากการเป็นครูฝึกวิวัฒน์พลเมือง มาตั้งแต่ พ.ศ.2551  ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ  คือ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ หลบหนีแม้จะได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั้ง พ.ศ.2557 จึงได้มีแนวความคิด ที่จะลดการหลบหนีลงให้สำเร็จ จึงพัฒนา นวัตกรรม  “การสร้างแรงจูงใจ ไม่ให้หลบหนี เพื่อคืนคนดี สู่สังคม” โดยดำเนินการ ดังนี้
1. ซักถามผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ว่า ตนเองถูกส่งตัวเข้ามาฟื้นฟูฯ นั้นมีความพร้อมในการเข้ารับการบำบัดหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่มีความพร้อมก็จะต้องดำเนินการแก้ไข โดยด่วน เช่น พากลับไปพบครอบครัว และทำความเข้าใจกับครอบครัว ถึงสาเหตุ ที่ต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ เมื่อแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างได้แล้ว จึงนำตัวกลับเข้ามายังหน่วยบำบัดฯ
2. มีการประเมินปัญหาและแก้ไขปัญหาตามรายกรณี (เมื่อมีรายแรก ย่อมมีรายต่อไป ได้มีการแก้ไข เป็น รายๆๆไป)
3. หน่วยบำบัดฯ จัดให้มีการ นำผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ไปเยี่ยมบ้าน เป็นระยะๆ เช่น มีการเจ็บป่วยคนในครอบครอบครัว ได้แก่  พ่อ แม่ ภรรยาและลูก ร่วมถึงในงานต่างๆ ที่มีความสำคัญมากกับผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ
4. จัดให้มีการช่วยเหลือ ครอบครัวของผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ เช่น นำเงินไปช่วย  ซื้อของไปฝาก รวมถึงมีการแวะไปเยี่ยมเป็นระยะๆ
5. มีการตั้งธง  ว่า “เราอยู่ร่วมกันแล้ว ไม่มีการหลบหนี หน่วยจะพาไปเที่ยวทะเล (เป้าหมายและข้อสัญญา)
6. ในระหว่างที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ อยู่นั้น ก็มีการสำรวจดูว่า ในแต่ละเดือน มีวันเกิดใครบ้าง และจัดให้มีการฉลองวันเกิดให้
7. ในห้วงเทศกาลต่างๆ เช่น สงกรานต์  ปีใหม่ จัดให้มีการแสดง เช่น นำดนตรี มาทำการแสดง
8. การจัดงาน มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่มีความประพฤติดีเด่น
9. จัดให้มีการพบปะญาติ อย่างใกล้ชิด และทำกิจกรรมร่วมกัน

ผลลัพธ์ : ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ไม่มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯหลบหนีออกจากสถานฟื้นฟูฯ จนถึงปัจจุบันได้มีการเยี่ยมบ้านผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯอยู่ตลอด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ว่า “เราจะไม่ทิ้งกัน” ส่งผลให้ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น พ.ศ. 2562  ได้รับรางวัล Best Practice สำนักงาน กรมคุมประพฤติ และพ.ศ.2565 นำหน่วยบำบัดฯ ได้รับรางวัล หน่วยดีเด่น จากศูนย์ป้องกันยาเสพติด ของกองทัพบกและได้รับ บุคคลดีเด่น จาก ศูนย์ป้องกันยาเสพติดของกองทัพบก

ชื่อผลงาน : 1.การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยสารเสพติดที่มีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด พฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ในชุมชนและในสถานบริการ 2.การขับเคลื่อนการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลกำแพงเพชร และ 3.การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดโดยภาคีเครือข่ายในชุมชน CBTx เพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด และพฤติกรรมสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง SMI-V

การดำเนินการ :
  จัดทำแนวทางการคัดกรอง การประเมินความรุนแรง การเฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชน ระบบการส่งต่อ การติดตามต่อเนื่อง ในภาพรวมระดับจังหวัดให้เป็นแนวทางเดียวกัน ได้แก่
1.จัดทำแนวทางการคัดกรอง ประเมินความรุนแรง การเฝ้าระวังการสังเกตสัญญาณเตือนความรุนแรง โดยภาคีเครือข่ายในชุมชน  
2.จัดทำแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ( SMI-V ) ระบบการส่งต่อ ระยะก่อนนำส่ง ขณะนำส่ง และการส่งกลับไปดูแลต่อเนื่องในชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย  
3.จัดทำแนวทางปฏิบัติระบบการดูแลในโรงพยาบาลระยะ Acute care แผนกห้องฉุกเฉิน  หอผู้ป่วยใน และในชุมชน  
4.จัดทำแนวทางการดูแลต่อเนื่องในชุมชน การเยี่ยมบ้านร่วมกับภาคีเครือข่าย  
5.บูรณาการระบบการดูแลต่อเนื่องในชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายรูปแบบ CBTx. (นำไปกำหนดพื้นที่นำร่อง 2 ตำบลและบูรณาการรูปแบบการดูแลในชุมชนในเขตอำเภอเมือง)
6. ให้ความรู้กับภาคีเครือข่าย ชุมชน ครอบครัว และผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลต่อเนื่อง การรับประทานยา การเฝ้าระวัง การสังเกตสัญญาณเตือน

ผลลัพธ์ :  
1. มีแนวทางปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือผู้ใช้สารเสพติดที่มีอาการคลุ้มคลั่ง พฤติกรรมรุนแรง  ในระยะ Acute care ในโรงพยาบาล ในชุมชน การส่งต่อ และการดูแลต่อเนื่อง และนำไปใช้ร่วมกันในระดับจังหวัด     
2.ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด (SMI-V ) ได้รับการดูแลและติดตามต่อเนื่องในชุมชนทุกราย คิดเป็น ร้อยละ 100
3. อัตราการเกิดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงระหว่างดูแลในโรงพยาบาลเป็นศูนย์  
4. หลังเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยไม่ก่อความรุนแรงซ้ำทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
5. ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้  
6. ภาคีเครือข่ายสามารถจัดการกับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการคลุ้มคลั่งอาละวาดโดยไม่เกิดอันตรายกับผู้ป่วยและกับทีม
7. พ.ศ.2565 มีเครือข่าย CBTx เพิ่มขึ้น รวมทั้งหมด 10 ตำบล ในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร คิดเป็น ร้อยละ 62.50


แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 04 December 2023 )
ถัดไป >