หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


Tramadol ภัยร้ายใกล้ตัว พิมพ์
Friday, 30 December 2016

     สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้ศึกษาผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาทรามาดอล (Tramadol) และสี่คูณร้อย ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาพบว่าผู้เข้ารับการบำบัดรักษากลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี2557 – 2559 พบผู้ป่วย Tramadol จำนวน 5 ราย 9 ราย และ 46 ราย ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยสี่คูณร้อยจำนวน 50 ราย 80 รายและ 114 รายตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เสพเมื่อหายาที่ผิดกฎหมายไม่ได้ก็จะหายาที่สามารถซื้อได้ง่ายจากร้านขายยาแทน

    Tramadol เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ (opioids) ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน รูปแบบยาเม็ด และยาแคปซูล สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยจัดเป็นยาอันตรายมีกำหนดให้ร้านขายยาสามารถขายได้ครั้งละไม่เกิน 20 เม็ดหรือแคปซูลต่อคนต่อครั้ง และห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในทุกกรณี แต่ก็พบว่ามีการลักลอบขายให้กับวัยรุ่นเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งการใช้เสพแบบยาเดี่ยวและผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ แม้กระทั่งนำมาผสมกับน้ำใบกระท่อมและยาต่างๆ เช่น ยานอนหลับ (alprazolam) ยารักษาภูมิแพ้ (dimenhydramine) ยาแก้ไอ (codeine) หรือที่รู้จักในชื่อ “สี่คูณร้อย” โดยหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่ผสมTramadol เข้าไปจะเกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) ทำให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้ทุกวัน และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องทำให้มีความต้องการปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดอาการติดยา(addiction) และนำไปสู่อาการถอนยาได้หากไม่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย การติดยาดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตัวยา คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นมิวรีเซพเตอร์ (µ-receptor) ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ที่สมอง มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข และการติดยา

    ในทางการแพทย์ Tramadol ใช้รักษาอาการปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ขนาดยาที่ใช้ คือ 50-100 มิลลิกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง โดยขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 400 มิลลิกรัม ผลข้างเคียงของTramadol พบได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน จนถึงรุนแรงระดับนำไปสู่การเสียชีวิต เมื่อเสพในขนาดสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม (10 เม็ด) ขึ้นไป เช่น ชัก กดศูนย์การหายใจของร่ายกาย หรือซีโรโธนินซินโดรม (serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลายๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูง เกิดภาวะไข้สูงเกิน (hyperpyrexia) นำไปสู่อาการแทรกซ้อน คือ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) ภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด (disseminated intravascular coagulation) ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดมากขึ้นในผู้ที่ใช้ยาหลายตัวร่วมกันโดยเฉพาะยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่ม MAOIs และ SSRIs หรือยาแก้ไอ เช่น dextromethorphan รวมถึงการใช้ยาเสพติดบางชนิดที่มีผลกระตุ้นประสาทที่มีผลต่อสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin) เช่น ยาอี (ecstasy) ยาบ้า (amphetamines) ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันจะส่งเสริมทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากTramadol เพิ่มขึ้นโดยปริมาณยาที่ทำให้ถึงกับเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2 กรัม (40 เม็ด) ขึ้นไป โดยยาจะกดศูนย์การหายใจทำให้หัวใจหยุดเต้น

    จะเห็นได้ว่าTramadol สามารถทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับยาเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอีน ต้องมีการใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดยา มีประวัติเสพติดยาหรือแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีการใช้ยาในปริมาณสูงติดต่อกัน หากได้รับ Tramadol เป็นเวลานานและหยุดยาทันทีอาจเกิดอาการถอนยาได้ จึงควรค่อยๆลดขนาดการใช้ลง ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดยาTramadolได้ สามารถโทรปรึกษาและขอข้อมูลได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Wednesday, 03 November 2021 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >