หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


ความต้องการในการพัฒนาศักยภาพการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดในชุมชน พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง    ความต้องการในการพัฒนาศักยภาพการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดในชุมชน ของผู้ประสานพลังแผ่นดิน
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2547

บทคัดย่อ

    การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้าใจของผู้ประสานพลังแผ่นดินที่มีต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานรัฐ และความต้องการความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประสานพลังแผ่นดิน โดยมีเป้าหมายการศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้ประสานพลังแผ่นดิน ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดิน อยู่ในชุมชนที่อยู่ในจังหวัดหนึ่งในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครจำนวน 31 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 8 – 10 กันยายน 2547 โดยใช้วิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ตามแบบสอบถามและแนวคำถามที่สร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
    ผลการศึกษาพบว่าการได้มาเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดินของกลุ่มตัวอย่างมีได้ 2 ทาง คือมีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ส่วนที่เป็นทางการคือกลุ่มที่ได้รับแต่งตั้งตามตำแหน่งได้แก่ ผู้นำชุมชนในระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน โดยทางอำเภอหรือเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้ง ส่วนที่ไม่เป็นทางการเป็นกลุ่มที่มาจากชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากกำนัน วิทยากรและอสม. ในหมู่บ้าน/ชุมชนให้เป็นผู้ประสานพลังแผ่นดิน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประสานพลังแผ่นดินส่วนใหญ่ไม่ทราบบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจนของผู้ประสานพลังแผ่นดินเท่าที่ควร ดังนั้นการให้ความหมายของการมาเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดินจึงพบว่า ส่วนใหญ่ให้ความหมายใน 2 ลักษณะ คือเป็นผู้ที่ทำความดีให้ชุมชนและเป็นผู้ช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งงานที่ดำเนินการปฏิบัติล้วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในชุมชนในลักษณะของการแจ้งเบาะแส การแจ้งข่าว การสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานรัฐ ส่วนการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูนั้นพบว่าไม่ได้มีวิธีการเฉพาะหรือมีรูปแบบที่ชัดเจน
    นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยอย่างยิ่งถึงความสำคัญของความจำเป็นในการติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟู โดยเห็นว่าควรมีการจัดอบรมให้กับผู้ประสานพลังแผ่นดิน เพื่อเพิ่มพูนขีดความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะที่จำเป็นในการติดตามและช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดในชุมชนของตนเองไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ ซึ่งความรู้ที่จำเป็นในการอบรมควรประกอบด้วย เนื้อหาสาระเกี่ยวกับยาเสพติด สาเหตุและพฤติกรรมการกลับไปเสพติซ้ำ จิตวิทยาและพัฒนาการในวัยรุ่น ทั้งนี้ควรมีการจัดทำเอกสารที่กำหนดวิธีการในการติดตามแต่ละครั้งให้ชัดเจน เพื่อผู้ประสานพลังแผ่นดินยึดถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และในการอบรมควรมีเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมด้วย
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >