หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การศึกษาประสิทธิผลการบำบัดรักษารูปแบบกาย จิต สังคมบำบัด พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010

เรื่อง    การศึกษาประสิทธิผลการบำบัดรักษารูปแบบกาย จิต สังคมบำบัด (FRESH Model) ของสถาบันธัญญารักษ์
ผู้วิจัย   นางวิมล        ลักขณาภิชนชัช
          นางวันเพ็ญ    ใจปทุม
ปี    2546

บทคัดย่อ
    การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแบบผู้ป่วยนอกในผู้ติดสารแอมเฟตามีนจะรักษาตามอาการหรือการให้คำปรึกษา ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ติดยาเสพติดหายขาดได้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบำบัดรักษาได้เห็นความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา จึงได้นำรูปแบบ Matrix Program (กาย จิต สังคมบำบัด) มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยนอก
    สถาบันธัญญารักษ์ได้นำรูปแบบ กาย จิต สังคมบำบัด มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยนอกระยะฟื้นฟูสมรรถภาพตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2543     และเรียกรูปแบบตามตัวย่อของกลุ่มต่าง ๆ ว่า FRESH Model และมีผู้ป่วยจบโปรแกรมแล้ว จึงควรได้มีการประเมินผลการบำบัดรักษาและนำผลการประเมินมาพัฒนางานการบำบัดรักษารูปแบบกาย จิต สังคม บำบัดให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งได้ผลการประเมินคามตัวชี้วัด ดังนี้
    ตัวชี้วัดที่ 1  ร้อยละของความพึงพอใจต่อโปรแกรมการบำบัดรักษา พบว่า ความพึงพอใจของผู้ป่วยแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านเจ้าหน้าที่ ด้านสถานที่และด้านกลุ่มกิจกรรมมากกว่าร้อยละ 80 (ผ่านเกณฑ์การประเมิน)
    ตัวชี้วัดที่ 2  ร้อยละของผู้ป่วยที่ไม่เสพยาเสพติดระหว่างการบำบัดรักษา พบว่า ผลการสุ่มตรวจปัสสาวะทุกสัปดาห์มีผู้ป่วยที่ไม่พบสารเสพติดร้อยละ 95.8 (ผ่านเกณฑ์การประเมิน)
    ตัวชี้วัดที่ 3  ร้อยละของผู้ป่วยที่ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมครอบครัวศึกษาตั้งแต่ 8 ครั้งขึ้นไปพบว่า ผู้ป่วยที่ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมครอบครัวตั้งแต่ 8 ครั้งขึ้นไป ร้อยละ 72.42 (ต่ำกว่าเกณฑ์การประเมิน)
    ตัวชี้วัดที่ 4  ร้อยละของผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพกับครอบครัวดีขึ้นหลังการบำบัดรักษา พบว่า ผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพกับครอบครัวดีขึ้นหลังการบำบัดรักษาตั้งแต่ 1 ด้านขึ้นไป ร้อยละ 96.55 (ผ่านเกณฑ์การประเมิน)
    ตัวชี้วัดที่ 5  ร้อยละของผู้ป่วยที่จบโปรแกรมการบำบัดรักษารูปแบบกาย จิต สังคมบำบัด พบว่ามีผู้ป่วยที่จบโปรแกรมการบำบัดรักษา ร้อยละ 56.1 (ผ่านเกณฑ์การประเมิน)
    ตัวชี้วัดที่ 6  ร้อยละของผู้ป่วยที่ไม่กลับไปเสพซ้ำหลังการบำบัดรักษา พบว่า มีผู้ป่วยที่ยังไม่กลับไปติดซ้ำ ร้อยละ 97.83 (ผ่านเกณฑ์การประเมิน)
    นอกจากนี้ ความคิดเห็นของผู้ป่วยในเรื่องการให้บริการที่ติดว่าดีแล้วและควรทำต่อไปได้แก่ คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ รูปแบบการบำบัดรักษา อุปกรณ์และการบริการของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่ควรปรับปรุงได้แก่ การตรงต่อเวลาและควรจัดกิจกรรมก่อนเข้ากลุ่มจะได้ไม่ต้องนั่งรอเฉย ๆ

ข้อเสนอแนะ
    1.  ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจบโปรแกรมเป็นช่วงที่ประกาศสงครามกับยาเสพติด สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาบ้าลดลง ควรได้มีการติดตามผลการบำบัดรักษาต่อไปว่าผู้ป่วยเหล่านี้ จะมีการกลับไปเสพยาเสพติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหรือไม่ ประกอบด้วยกับระยะเวลาที่ผู้ป่วยเหล่านี้จบโปรแกรมยังไม่ถึง 1 ปี
    2.  การติดตามการรักษา ควรมีการติดตามผู้ป่วยที่ไม่จบโปรแกรมด้วย เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุที่ผู้ป่วยอยู่รับการบำบัดรักษาไม่จบโปรแกรมด้วยสาเหตุใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโปรแกรมต่อไป
    3.  ควรมีการพัฒนารูปแบบและระยะเวลา กลุ่มครอบครัวศึกษา เพื่อเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของครอบครัว
    4.  ควรมีการเปลี่ยนแปลงการสุ่มตรวจปัสสาวะในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหรือเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >