หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การประเมินผลการนำกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมไปใช้ของผู้ผ่านการอบรม พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
เรื่อง    การประเมินผลการนำกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมไปใช้ของผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรกลุ่มปัญญาสังคม ของสถาบันธัญญารักษ์
ผู้วิจัย   นางวิมล        ลักขณาภิชนชัช
          นางปราณี    ภาณุภาส
ปี    2546

บทคัดย่อ

    การช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมบูรณ์เป็นคนดีของสังคม มีคุณค่า และไม่กลับไปเสพติดซ้ำ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดอุปสงค์ด้านยเสพติดในประเทศไทย จึงได้มีการนำแนวคิดของกลุ่มช่วยเหลือกันเองในผู้ติดยาเสพติด
 ( Narcotics Anonymous : NA ) มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่กลุ่มกิจกรรมดังกล่าวยังไม่แพร่หลายและกลมกลืนกับชุมชนและวัฒนธรรมของไทย
    สถาบันธัญญารักษ์ ได้นำแนวคิดของกลุ่ม NA มาผสมผสานกับหลักทฤษฎีการเรียนรู้แบบปัญญาสังคมของแบนดูร่า (Bandura) และพัฒนามาเป็นกลุ่มปัญญาสังคม เพื่อใช้ในการติดตามดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วให้ไม่หันกลับไปเสพซ้ำอีก และได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษายาเสพติดและผู้ที่สนใจจำนวน 5 รุ่น ในปีงบประมาณ 2546 ซึ่งกลุ่มปัญญาสังคมนี้ถือเป็นหลักสูตรใหม่เพิ่งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงควรมีการประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของการนำกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมไปใช้ โดยแบ่งการประเมินเป็น 3 ระยะคือ 1. ภายหลังการอบรม 2. กลับสู่ภาระงานเดิมของตน และ 3. การนำกลุ่มปัญญาสังคมไปใช้ กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาได้แก่ ผู้เขารับการอบรมวิทยากรกลุ่มปัญญาสังคมจำนวน 157 ราย โดยมีผลการประเมินดังนี้
    ระยะที่ 1 ภายหลังการอบรม พบว่า ผู้ผ่านการอบรมมีความคิดเห็นว่า เนื้อหาหลักสูตรกลุ่มปัญญาสังคมเหมาะสมร้อยละ 95.6 และความคิดเห็นว่าสามารถนำกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมไปประยุกต์ใช้กับผู้ติดยาเสพติดที่จบโปรแกรมและอยู่ในระยะติดตามได้ร้อยละ 82.7
    ระยะที่ 2 กลับสู่ภาระงานเดิมของตน พบว่า ผู้ผ่านการอบรมร้อยละ 69.2 ได้นำความรู้จากกการอบรมไปใช้โดยถ่ายทอดให้กับผู้อื่น ใช้กับผู้ป่วยที่จบโปรแกรมและผู้ป่วยที่ยังไม่จบโปรแกรม
    ระยะที่ 3 การใช้กลุ่มปัญญาสังคม พบว่า ผู้ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ร้อยละ  30.8 นำไปจัดให้กับผู้ที่ผ่านการเข้าค่ายบำบัด รองลงร้อยละ 23.1 จัดให้กับผู้ป่วยที่จบโปรแกรมแล้ว การจัดกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำกลุ่มเองร้อยละ 57.7 และการนำกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมไปใช้จะพบปัญหา – อุปสรรค ซึ่งปัญหาที่พบได้แก่ ไม่สามารถคัดเลือกผู้ป่วยมาเป็นผู้นำกลุ่มได้ การมาไม่ตรงตามนัดและมาไม่ครบกำหนด ส่วนความคิดเห็นถึงความเหมาะสมของการใช้กิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมให้กับผู้ป่วยที่ยังไม่จบโปรแกรมส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เห็นว่าเหมาะสม ส่วนการจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับผู้ป่วยที่จบโปรแกรมแล้วส่วนใหญ่ร้อยละ 92 เห็นว่าเหมาะสม และความคิดเห็นต่อกิจกรรมกลุ่มปัญญาสังคมมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยไม่กลับไปติดซ้ำได้ในระดับปานกลางถึงมาก
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >