หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


ศักยภาพด้านการบำบัดรักษายาเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับ พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง    ศักยภาพด้านการบำบัดรักษายาเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับ
ชื่อผู้วิจัย    นางสาวจงรัก    อินทร์เสวก
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2546

บทคัดย่อ

    จากสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนักนับตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา รัฐบาลทุกชุดได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์หนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดของสถานพยาบาลทั้งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นนอกกระทรวงฯ และมอบหมายให้สถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ รับผิดชอบแผนงานพัฒนาศักยภาพการบำบัดรักษาผู้เสพสารเสพติดให้กับสถานพยาบาลทุกระดับ ซึ่งกิจกรรมหลักในการดำเนินงานประการหนึ่ง คือ การประเมินศักยภาพการบำบัดรักษาของสถานพยาบาลทุกระดับ ซึ่งกิจกรรมหลักในการดำเนินงานประการหนึ่ง คือ การประเมินศักยภาพการบำบัดรักษาของสถานพยาบาลทุกระดับ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนในการพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลทุกระดับ ให้มีรูปแบบและสามารถให้บริการบำบัดรักษาผู้เสพสารเสพติดที่เหมาะสม สามารถสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน
    การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ครอบคลุมระดับ รพศ./รพท./รพช./สอ. และศูนย์สุขภาพชุมชน ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
    การศึกษาได้ใช้แบบสำรวจข้อมูลพื้นฐานเพื่อเตรียมการพัฒนาศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้เสพสารเพสติดของสถานพยาบาลทั่วประเทศที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ดำเนินการสำรวจในสถานพยาบาลทั้งที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จัดตั้งเป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และที่ยังไม่ได้จัดตั้งแต่ให้บริการบำบัดรักษายาเสพติดด้วยตามนโยบายของรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 1,335 แห่ง
    ผลการศึกษา พบว่า
    1. สถานพยาบาลระดับโรงพยาบาลซึ่งประกอบด้วย รพศ./รพท./รพช. ร้อยละ 78.3 มีขอบเขตการให้บริการด้านยาเสพติดในรูปแบบผู้ป่วยนอก ให้บริการครบทั้ง 4 ขั้นตอน(ขั้นเตรียมการก่อนรักษา, ขั้นถอนพิษยา, ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ และขั้นติดตามการรักษา) ร้อยละ 46.9 สำหรับโครงสร้างของงานยาเสพติดร้อยละ 70.5 ของสถานพยาบาลทั้งหมดขึ้นอยู่กับงานอื่น อัตราการครองเตียง 3 ปีย้อนหลังของผู้ป่วยในด้านยาเสพติดอยู่ระหว่าง 34.83-38.85%
    ในส่วนของศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้เสพสารเสพติดในประเด็นต่าง ๆ พบว่า
        1.1 ด้านบุคลากร มีจำนวนบุคลากรที่ทำงานด้านยาเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ มีค่าเฉลี่ย ( ) อยู่ที่ 3 คนต่อสถานพยาบาล มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดน้อยกว่า 5 ปี สูงถึงร้อยละ 88.20 เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างจำนวนบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดน้อยกว่า 5 ปี และจำนวนบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดมากกว่า 5 ปี เท่ากับ 2.3 : 1 และต้องปฏิบัติงานอื่นร่วมด้วยร้อยละ 90.6
        1.2 ด้านสถานที่ ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก ต้องให้บริการร่วมกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ถึงร้อยละ 31.4 ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.7 ไม่มีบริการผู้ป่วยใน ในกรณีให้บริการรูปแบบผู้ป่วยในนั้นต้องให้บริการร่วมกับผู้ป่วยอื่นถึงร้อยละ 18.0 สภาพพื้นที่ใช้สอยในการให้บริการด้านยาเสพติดค่อนข้างจำกัด ไม่เพียงพอถึงร้อยละ 62.7
        1.3 ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นในการให้บริการด้านยาเสพติด พบว่าร้อยละ 15.3 มีทั้งยาสำหรับผู้ป่วยเฮโรอีนและผู้ป่วยแอมเฟตามีน และร้อยละ 10.5 ยังไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นในการให้บริการเลย สำหรับความสามารถในการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดร้อยละ 81.8 สามารถตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดได้เองในระดับขั้นพื้นฐาน
        1.4 ศักยภาพด้านการบำบัดรักษา พบว่าร้อยละ 54.4 สามารถรักษาโรคแทรกซ้อนได้โดยไม่ต้องส่งต่อไปที่อื่นในกรณีโรคที่ไม่ซับซ้อน รุนแรง และร้อยละ 67.8 มีการจัดทำคู่มือ/แนวทาง/มาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในบางส่วนไว้แล้ว ในขณะที่อีกร้อยละ 17.4 ยังไม่มีการจัดทำเลย

    2. สถานพยาบาลระดับสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชน มีขอบเขตการให้บริการด้านยาเสพติดในรูปแบบผู้ป่วยนอก ให้บริการรูปแบบจิต สังคมบำบัดมากที่สุด ร้อยละ 59.39 โดยให้บริการครบทั้ง 4 ขั้นตอน (ขั้นเตรียมการก่อนรักษา, ขั้นถอนพิษยา, ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพและขั้นติดตามการรักษา) มากที่สุดร้อยละ 54.31 ค่าเฉลี่ย ( ) ของจำนวนปีที่ให้บริการด้านยาเสพติดเท่ากับ 1 ปี 2 เดือน โดยให้บริการเป็นเวลา 1 ปี จำนวนมากที่สุด ร้อยละ 65.99 สำหรับโครงสร้างของงานยาเสพติดส่วนใหญ่สถานพยาบาลระดับสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชนดำเนินการรวมอยู่กับงานอื่น ๆ ผู้รับผิดชอบเป็นทีมเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60.91 สำหรับผลการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดพบว่าไม่กลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ ผลงาน 3 ปีย้อนหลังอยู่ระหว่าง 37.75-58.10%
    ในส่วนของศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้เสพสารเสพติดในประเด็นต่าง ๆ พบว่า
        2.1 ด้านบุคลากร มีจำนวนบุคลากรที่ทำงานด้านยาเสพติด มีค่าเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 0.83 คน มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดน้อยกว่า 5 ปี สูงถึงร้อยละ 89.78 เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างจำนวนบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดน้อยกว่า 5 ปี และจำนวนบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดมากกว่า 5 ปี เท่ากับ 3.15 : 0.53 และต้องปฏิบัติงานอื่นร่วมด้วยร้อยละ 89.85
        2.2 ด้านสถานที่ ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก และ/หรือ คลินิกถอนพิษยานอก เพียงรูปแบบเดียว ต้องให้บริการร่วมกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ถึงร้อยละ 39.09 สภาพพื้นที่ใช้สอยในการให้บริการด้านยาเสพติดค่อนข้างจำกัด ไม่เพียงพอถึงร้อยละ 50.25
        2.3 ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นในการให้บริการด้านยาเสพติด พบว่ามีเครื่องช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน อยู่ร้อยละ 34.01 มียาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยยาเสพติด ร้อยละ 63.45 สำหรับความสามารถในการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดร้อยละ 71.57 สามารถตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดได้เองในระดับขั้นพื้นฐาน
        2.4 ศักยภาพด้านการบำบัดรักษา พบว่าร้อยละ 44.16 สามารถรักษาโรคแทรกซ้อนได้โดยไม่ต้องส่งต่อไปที่อื่นในกรณีโรคที่ไม่ซับซ้อน รุนแรง และร้อยละ 65.48 มีการจัดทำคู่มือ/แนวทาง/มาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในบางส่วนไว้แล้ว ในขณะที่อีกร้อยละ 19.29 ยังไม่มีการจัดทำเลย

    ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพิจารณาในการพัฒนาศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้สารเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสถาบันเสพติดธัญญารักษ์ และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดในส่วนภูมิภาค
    สืบเนื่องจากหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎกระทรวงที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาของสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดในส่วนภูมิภาคในการเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านยาเสพติด ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมถึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงการแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนามาตรฐานด้านการบำบัดรักษายาเสพติดให้กับสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อศึกษาผลการวิเคราะห์แบบสำรวจข้อมูลพื้นฐานเพื่อเตรียมการพัฒนาศักยภาพด้านการบำบัดรักษาผู้เสพสารเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานดังกล่าว ดังนี้
1. การพัฒนาองค์ความรู้หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยาเสพติด ทางสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดในส่วนภูมิภาค ควรนำผลการวิเคราะห์แบบสำรวจ ทั้งในส่วนของการสำรวจความต้องการในการอบรม (Training need survey) และแผนการขยายงานด้านยาเสพติดที่ทางสถานพยาบาลได้ตอบกลับมา นำมาพัฒนาเพื่อกำหนดเนื้อหา ระยะเวลาและจำนวนรุ่นของหลักสูตร และนำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนาบุคลากรในสถานพยาบาลทุกระดับได้อย่างเหมาะสม และสามารถตอบสนองความต้องการของสถานพยาบาลทุกระดับต่อไป
2. การพัฒนามาตรฐานด้านการบำบัดรักษายาเสพติดให้กับสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ซึ่งทางสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนั้น จากผลการวิเคราะห์แบบสำรวจทำให้สามารถมองเห็นภาพของการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษายาเสพติดของสถานพยาบาลทุกระดับได้ในภาพรวม ทางสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ได้จัดทำข้อกำหนดและเกณฑ์มาตรฐานด้านการบำบัดรักษายาเสพติด และดำเนินการควบคุมกำกับคุณภาพการให้บริการบำบัดรักษายาเสพติดของสถานพยาบาลในเชิงกระบวนการเท่านั้น สำหรับความต้องการสนับสนุนในเชิงโครงสร้าง เช่น อัตรากำลัง สถานที่ให้บริการ เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงงบประมาณต่าง ๆ ทางสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์จะทำหน้าที่ในการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้บริหารระดับกระทรวงต่อไป
3. การพัฒนาด้านอื่น ๆ จากผลวิเคราะห์ข้อมูลของแบบสำรวจ พบว่าในส่วนของความต้องการการสนับสนุนจากส่วนกลาง มีบางประเด็นที่ทางสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดในส่วนภูมิภาค สามารถดำเนินการได้ เช่น การสนับสนุนสื่อด้านยาเสพติด หนังสือ ตำราวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านยาเสพติด รวมถึงคู่มือการปฏิบัติงาน มาตรฐานการดำเนินงานด้านยาเสพติด ซึ่งในการจัดทำแผนงานด้านยาเสพติดของโรงพยาบาลควรบรรจุแผนงาน/โครงการในการผลิตสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านยาเสพติดลงไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานพยาบาลทุกระดับมีแนวทางในการบำบัดรักษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนที่ 2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้บริหารระดับกระทรวงสาธารณสุข
    จากผลการวิเคราะห์แบบสำรวจ พบว่ามีหลายประเด็นที่ทางสถานพยาบาลทุกระดับได้ตอบกลับมา และขอรับการสนับสนุนจากระดับกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1. โครงสร้างของงานด้านยาเสพติด จากผลการวิเคราะห์แบบสำรวจ พบว่าโครงสร้างของงานยาเสพติด ยังขึ้นอยู่กับงานอื่น เช่น กลุ่มงานการพยาบาล กลุ่มงานจิตเวช หรืองานสุขภาพจิต เป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.5) จำนวนบุคลากรที่มีอยู่ระหว่าง 2 – 4 คน ต้องปฏิบัติงานอื่นร่วมด้วย (ร้อยละ 90.6) ทำให้ศักยภาพด้านการบำบัดรักษายาเสพติดโดยรวมทำได้ไม่ดีนัก (โดยดูจากอัตราการครองเตียงด้านยาเสพติด ของสถานพยาบาลอยู่ที่ 34.83 – 38.85%) ดังนั้นเพื่อให้ศักยภาพด้านการบำบัดรักษาของสถานพยาบาลทุกระดับมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม จึงควรมีทบทวนโครงสร้างของงานยาเสพติดในสถานพยาบาลทุกระดับโดยแยกออกมาเป็นงานเฉพาะต่างหาก ทั้งนี้เพราะบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจะได้มีขอบเขตการให้บริการที่ชัดเจน ไม่ต้องไปปฏิบัติงานด้านอื่นซึ่งมีภาระงานมากพอ ๆ กับงานยาเสพติด
2. การสนับสนุนด้านงบประมาณ จากาผลการวิเคราะห์แบบสำรวจ พบว่าศักยภาพด้านการบำบัดรักษายาเสพติดในประเด็นต่าง ๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อพัฒนาศักยภาพในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
2.1    ด้านบุคลากร ควรสนับสนุนทั้งในด้านอัตรากำลัง ด้านการศึกษา/อบรม/ดูงานของบุคลากร
2.2    ด้านสถานที่ให้บริการ พบว่า ร้อยละ 31.4 ของสถานพยาบาลทั้งหมดยังให้บริการรวมกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ พื้นที่ใช้สอยในการให้บริการด้านยาเสพติดค่อนข้างจำกัด ไม่เพียงพอ (ร้อยละ 62.7) จึงควรให้การสนับสนุนด้านอาคาร สถานที่ ให้สามารถให้บริการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
2.3    ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นในการให้บริการด้านยาเสพติด พบว่าสถานพยาบาลส่วนใหญ่ยังขาดเครื่องช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการให้บริการบำบัดรักษา รวมถึงความสามารถในการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดทำได้เองในระดับขั้นพื้นฐานเท่านั้น ดังนั้น การให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นในการให้บริการด้านยาเสพติด จะช่วยให้สถานพยาบาลมีศักยภาพสูงยิ่งขึ้น สามารถให้การบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
3. ด้านนโยบายและแผนงานด้านยาเสพติด จากการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านยาเสพติดที่ผ่านมาของสถานพยาบาล พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการขาดนโยบายและแผนงานด้านยาเสพติดที่ชัดเจน มีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบบ่อย ทำให้การดำเนินงานขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดนโยบาย แผนงาน/โครงการด้านยาเสพติดที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้การดำเนินงานด้านยาเสพติดเป็นไปอย่างต่อเนื่องและชัดเจน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >