หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การแพร่ระบาดของสารเสพติดและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเสพสารเสพติด พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
เรื่อง    การแพร่ระบาดของสารเสพติดและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเสพสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดปทุมธานี
ผู้วิจัย    สมิต        วัฒนธัญญกรรม
          สุทธีพร        มูลศาสตร์
          นิภา        ณีสกุล
          ปาลีรัตน์    โตมรศักดิ์
          กัลยา        วิริยะ
          ฉวีวรรณ    ปัญจบุศย์
ปี    2546

บทคัดย่อ
    ปัญหาสารเสพติดเป็นปัญหาสำคัญในนักเรียน ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพของนักเรียนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลถึงอนาคตของประเทศชาติที่จะมีนักเรียนเหล่านี้เป็นกำลังในอนาคต จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดหนึ่งทีมีการแพร่ระบาดของสารเสพติดในระดับรุนแรง จึงควรได้รับการศึกษาสภาพของปัญหานี้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแพร่ระบาดของพฤติกรรมการเสพสารเสพติดในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จังหวัดปทุมธานี และศึกษาผลของปัจจัยด้านประชากรและสังคม ปัจจัยด้านบุคคลและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่อพฤติกรรมการเสพสารเสพติดได้แก่การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการป้องกันและดูแลนักเรียนที่เสพสารเสพติดต่อไป
    รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงบรรยายเพื่อหาความสัมพันธ์ โดยศึกษาในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-6 จำนวน 1530 คน ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ภาชนะเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจหาสารแอมเฟตามีน แบบสอบถามนักเรียน และแบบสอบครู การแพร่ระบาดของสารเสพติดวิเคราะห์โดยสถิติเชิงพรรณนา ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเสพสารเสพติดวิเคราะห์โดยใช้สถิติในการจำแนกกลุ่ม (Discrimination analysis)
    ผลการศึกษาพบดังนี้
    1.  พฤติกรรมการสูบบุหรี่ : นักเรียนส่วนมากมีพฤติกรรมอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 70.31 พฤติกรรมรองลงมาอยู่ในระดับเคยทดลองใช้ร้อยละ 14.71 และมีนักเรียนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ถึงร้อยละ 7.5 โดยจำแนกเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมอยู่ในระดับเสพเพื่อความสนุกสนานร้อยละ 0.78 และเป็นนักเรียนที่ติดบุหรี่ถึงร้อยละ 6.73 มีเพียงร้อยละ 7.45 เท่านั้นที่มีพฤติกรรมอยู่ในระดับไม่เสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้ ได้แก่ อายุ บุคลิกภาพที่มีปัญหาด้านความคิด บุคลิกภาพเกเร / ทำผิดกฎระเบียบ แบบอย่างในการสูบบุหรี่ และความเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ โดยจำแนกสมการออกเป็น 4 สมการ ซึ่งใช้คาดคะเนกลุ่มได้ถูกต้องร้อยละ 52.44
    2.  พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ : นักรเยนมีพฤติกรรมอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการดื่มร้อยละ 56.41 รองลงมาเป็นพฤติกรรมในระดับเคยทดลองใช้ร้อยละ 17.19 นักเรียนที่ยังคงดื่มแอลกอฮอล์มีร้อยละ 20.31 โดยจำแนกเป็นนักเรียนที่ดื่มเพื่อความสนุกสนานร้อยละ 4.51 และมีนักเรียนที่ติดแอลกอฮอล์ร้อยละ 15.82 มีนักเรียนเพียงร้อยละ 6.08 เท่านั้นที่มีพฤติกรรมอยู่ในระดับไม่เสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ อายุ บุคลิกภาพมีความวิตกกังวลและซึมเศร้า บุคลิกภาพเกเร/ทำผิดกฎระเบียบ แบบอย่างในการดื่มแอลกอฮอล์ และความเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์ โดยจำแนกสมการออกเป็น 4 สมการ ซึ่งคาดคะเนกลุ่มได้ถูกต้องร้อยละ 50.64
    3.  พฤติกรรมการเสพยาบ้า : นักเรียนมีพฤติกรรมการเสพยาบ้าอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเสพยาบ้าร้อยละ 6.93 ระดับเคยทดลองใช้ร้อยละ 3.53 นักเรียนที่เสพยาบ้าอยู่ในปัจจุบันมีจำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 2.16 หรือมีความชุก (Prevalence rate) เท่ากับ 21.57 ต่อประชากร 1,000 คน ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการเสพยาบ้าได้ ได้แก่ อายุ บุคลิกภาพมีความวิตกกังวลและซึมเศร้า บุคลิกภาพเกเร/ทำผิดกฎระเบียบ สถานภาพของบิดามารดา แบบอย่างในการเสพยาบ้า และความเสี่ยงต่อการเสพยาบ้า โดยจำแนกสมการออกเป็น 3 สมการ ซึ่งคาดคะเนกลุ่มได้ถูกต้องร้อยละ 51.25
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >