หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงจากการเสพเฮโรอีนเป็นยาบ้าในผู้ป่วยยาเสพติด พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
เรื่อง    เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงจากการเสพเฮโรอีนเป็นยาบ้าในผู้ป่วยยาเสพติด
ผู้วิจัย   นางสาววัชรี    มีศิลป์
          นางลัดดา    ของทอง
ปี    2544

บทคัดย่อ
          การศึกษาครั้งรี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับเฮโรอีน ยาบ้า และเหตุผลการเปลี่ยนจากการเสพเฮโรอีนเป็นยาบ้า โดยศึกษาในกลุ่มผู้เสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ด้วยการติดยาบ้าและมีประวัติการเสพติดเฮโรอีนมาก่อนจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 14 คน การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เป็นเชิงลึก ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2544 ผลการศึกษาพบว่า ผู้เสพติดรับรู้เกี่ยวกับเฮโรอีนใน 2 ลักษณะ คือ รับรู้ประโยชน์ของเฮโรอีนว่าเป็นสารแห่งความสุข และลดการเจ็บป่วย และรับรู้เกี่ยวกับโทษของเฮโรอีนว่าทำให้สุขภาพทรุดโทรม มีความทุกข์ทรมานมากเมื่อขาดเฮโรอีน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในทางลบ ทำลายอนาคต และมีความรู้สึกทางเพศลดลง ส่วนการรับรู้เกี่ยวกับยาบ้ามี 2 ลักษณะ เช่นกัน คือ รับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของยาบ้า เป็นสารกระตุ้นประสาทที่ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย กล้าคิดกล้าทำ เป็นยาทดแทนเฮโรอีน ลดความเจ็บป่วยทางกาย และทำให้มีความต้องการทางเพศมากขึ้น ส่วนโทษของยาบ้าพบว่าทำให้มีบุคลาลิดภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบหรือก้าวร้าวและหยาบคายขึ้น และสุขภาพเสื่อมโทรมจากการขาดสารอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่วนเหตุผลการเปลี่ยนมาเสพยาบ้า ในระยะเริ่มต้นเสพเกิดจากคำแนะนำจากกลุ่มเพื่อน และต้องการทดลอง ในระยะต่อมาผู้เสพติดตัดสินใจเสพยาบ้าด้วยเหตุผลที่ว่าเฮโรอีนหายากและแพงกว่ายาบ้า สามารถทดแทนอาการขาดเฮโรอีน มีความพึงพอใจต่อฤทธิ์ของยาบ้า หาซื้อได้ง่าย เลิกเสพง่าย ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนที่ติด จากสมาชิกในครอบครัวว่ายาบ้ามีความรุนแรงน้อยกว่าเฮโรอีน และการได้รับการกระตุ้นจากสื่อต่าง ๆ โฆษณา
          ข้อเสนอแนะ ด้านการป้องกัน เนื่องจากยาบ้ามีการวางขายกันมาก แม้ในสาธารณะเช่น ตลาดนัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปกวดขันในสถานที่ต่าง ๆ  ให้มากขึ้น ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาบ้าแก่เยาวชนและประชานทั่วไป ด้านสื่อ ควรระมัดระวังในการให้ข้อมูลทางสื่อโฆษณาต่าง ๆ ให้มากขึ้นเนื่องจากการเสนอภาพยาบ้าหรือยาเสพติดในการจับกุมเอเยนต์หรือผู้ขายอย่างชัดเจนเป็นการกระตุ้นหรือยั่วยุให้ผู้เสพติดหรือผู้เคยเสพมีความต้องการในการเสพได้ ในสถานบำบัดรักษายาเสพติด ควรเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เสพติดในทางบวก วิธีการที่ถูกต้องในการสร้างความสุขให้ตนเองและมีระบบการส่งต่อ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการอบรมหลักสูตรทางจิตเวชแก่บุคลากรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >