หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


พฤติกรรมการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยติดสารเสพติด พิมพ์
Friday, 23 July 2010
ชื่อเรื่อง    : พฤติกรรมการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยติดสารเสพติดวัยรุ่นชายในโรงพยาบาลธัญญารักษ์
ผู้วิจัย    : สำเนา     มากแบนและสมบัติ   มากัน
ปี    : 2544

บทคัดย่อ
        การบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติด จำเป็นจะต้องกำหนดให้ผู้ป่วยอยู่ในเฉพาะบริเวณที่กำหนด ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยออกนอกโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำสารเสพติดเข้ามาในโรงพยาบาล การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยหรือเงื่อนไข และวิธีการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยติดสารเสพติดวัยรุ่นชายในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ วิธีการศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้ป่วยติดสารเสพติดวัยรุ่นชายที่เคยบำบัดรักษาในโรงพยาบาลธัญญารักษ์และถูกให้ออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากฝ่าฝืนกฎระเบียบของโรงพยาบาล โดยการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล จำนวน 10 คน ผลการศึกษามีดังนี้
        ปัจจัยหรือเงื่อนไขในการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เพื่อต้องการไปนำบุหรี่ / ยาเส้น เข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งนโยบายในการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติดของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ นอกจากให้ผู้ป่วยสามารถเลิกสารเสพติดได้แล้ว ยังต้องการให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ด้วย แต่ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดส่วนใหญ่จะติดบุหรี่ ซึ่งการติดบุหรี่เป็นการติดที่พฤติกรรมหรือความเคยชินต่อการสูบบุหรี่ ทำให้ยากต่อการละเลิก เมื่อผู้ป่วยมีความต้องการอยากสูบบุหรี่มากจนไม่สามารถทนต่ออาการนั้นได้ จึงตัดสินใจลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล เพื่อนำบุหรี่ / ยาเส้นเข้ามาสูบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาลอีก คือ ต้องการให้ถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและตื่นเต้น ต้องการได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล และต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน
        วิธีการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล จะทำเป็นกระบวนการและเป็นขั้นตอน . ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่งเป็นขั้นเตรียมการ เริ่มจากการหาผู้ที่จะทำการลักลอบหนีโดยเป็นผู้ที่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่มาก หรือผู้ที่เคยทำการลักลอบหนีออกได้สำเร็จ มีผู้ทำหน้าที่รวบรวมสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นยาเส้น ผู้ที่ทำการลักลอบจะเตรียมตัวโดยการเตรียมเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนและศึกษาเส้นทางที่จะลักลอบหนี มีการวางแผน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่สงสัย ขั้นตอนที่สองเป็นขั้นดำเนินการ จะเลือกเวลาที่ปลอดภัยมากที่สุด เป็นเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานน้อย ผู้ป่วยจะทำการลักลอบทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยการปีนกำแพงออกไปซื้อหรือแลกเปลี่ยนบุหรี่ / ยาเส้นที่ร้านค้าบริเวณอพาร์ทเม้นท์หลังโรงพยาบาล และจะกลับเข้ามาในโรงพยาบาลในช่องทางเดียวกับทางออก ขั้นตอนที่สามเป็นขั้นการจำหน่าย เมื่อได้บุหรี่ / ยาเส้นเข้ามาแล้วจะแจกจ่ายให้กับผู้ที่ฝากสิ่งของไปแลกและนำมาแบ่งปันกันสูบ มีบางคนจะจำหน่ายให้กับผู้ป่วยอื่นต่อในราคาที่สูง
        แนวทางการแก้ไข โดยการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของโรงพยาบาล พัฒนาบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล จัดให้มีป้อมยามพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่บริเวณด้านหลังหอผู้ป่วยอย่างน้อย 1 จุด และปฏิบัติการพยาบาลด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ สอดส่อง ระมัดระวังผู้ที่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการลักลอบหนีออกจากโรงพยาบาล
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >