หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


ปัจจัยด้านครอบครัวและการปฏิบัติของครอบครัวกับลักษณะการเสพยาบ้า พิมพ์
Thursday, 01 July 2010
ชื่อเรื่อง    : ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านครอบครัวและการปฏิบัติของครอบครัวกับลักษณะการเสพยาบ้าของวัยรุ่นที่เข้ารับการบำบัดในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลธัญญารักษ์
ผู้วิจัย    : สำเนา   มากแบน
ปี    : 2542

บทคัดย่อ
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านครอบครัว  การปฏิบัติของครอบครัวกับลักษณะการเสพยาบ้าของวัยรุ่นที่เข้ารับการบำบัดในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นบิดา มารดาของวัยรุ่นที่เสพยาบ้าจำนวน 358 คน และแฟ้มประวัติของวัยรุ่นที่เสพยาบ้า เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามเรื่องสัมพันธภาพระหว่างบิดามารดา (ค่าความเที่ยงเท่ากับ .92) การปฏิบัติของครอบครัว (ค่าความเที่ยงเท่ากับ .90) และแบบวิเคราะห์ลักษณะการเสพยาบ้าของวัยรุ่น ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์

    ผลการวิจัย พบว่า
    1. บิดามารดาของวัยรุ่นที่เสพติดยาบ้าส่วนมากจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว รายได้ของครอบครัวพอกินพอใช้ สัมพันธภาพระหว่างบิดามารดาอยู่ในระดับปานกลาง
    2. การปฏิบัติของครอบครัวต่อวัยรุ่นที่เสพติดยาบ้าอยู่ในระดับเหมาะสมมาก
    3. วัยรุ่นที่เสพติดยาบ้าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุ 16-18 ปี เป็นจำนวนสูงสุด ลักษณะการเสพยาบ้าพบสูงสุดคือเสพทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการเสพยาบ้าวันละ 100-200 บาท และส่วนใหญ่เสพโดยวิธีสูดควันระเหย
    4. การปฏิบัติของครอบครัว โดยรวม ด้านการตอบสนองความต้องการทางชีวภาพ ด้านการคงไว้ซึ่งการสื่อสารและสัมพันธภาพในครอบครัว และด้านการอบรมบทบาทที่เหมาะสมในสังคม มีความสัมพันธ์กับลักษณะการเสพยาบ้าของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ ระดับการศึกษาของบิดมารดา ลักษณะครอบครัว รายได้ของครอบครัว และสัมพันธภาพระหว่างบิดามารดา ไม่มีความสัมพันธ์กับลักษณะการเสพยาบ้าของวัยรุ่น
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า